เปิดผลสอบฯ เปลี่ยนป้าย “สถานีกลางบางซื่อ” 33 ล้านบาท พบเทคนิค วัสดุ เป็นไปตามมาตรฐาน
ติงวิธีเฉพาะเจาะจง ส่อไม่เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ปี 60 เหตุไม่ใช่งานที่มีผู้ผลิตได้รายเดียว โยนบอร์ด รฟท.เร่งทบทวน แนะใช้ของเดิมบางส่วนช่วยลดงบ

วันที่ 24 ม.ค. 2566 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ โครงการปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาท คณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งมีผู้แทนภายนอก ทั้งสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เข้าร่วม
โดยคณะกรรมการฯ ได้ประชุมทั้งสิ้น 3 ครั้ง (วันที่ 10 ม.ค. วันที่ 11 ม.ค. วันที่ 18 ม.ค.) ตรวจสอบใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง 2. ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง พร้อมทั้งได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งเอกสารชี้แจงรวม 11 ข้อ เพื่อประกอบการตรวจสอบฯ
ซึ่งในประเด็นความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้พิจารณาเอกสารหลักฐาน ตลอดจนการชี้แจงของ รฟท.ได้ว่าการกำหนดขอบเขตงาน ซึ่ง รฟท.อ้างอิงแบบโครงสร้าง รายละเอียด เทคนิควิธีการ และวัสดุจากงานที่กำหนดไว้เดิม ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท.ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิมที่ รฟท.ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่ามีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท.ของการดำเนินโครงการครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้
โดยเปรียบเทียบป้ายเดิม มีอักษรภาษาไทย 13 ตัว (ไม่รวมวรรณยุกต์) ภาษาอังกฤษ 19 ตัว ป้ายใหม่ มีอักษรภาษาไทย 19 ตัว (ไม่รวมวรรณยุกต์) ภาษาอังกฤษ 31 ตัว และขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าป้ายเดิม ผลิตจากอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง ทำให้ต้องขยายโครงสร้างเพื่อรองรับตัวอักษรที่เพิ่มอีก 20 เมตร นอกจากนี้ยังต้องติดตั้งกระเช้า Gondolas, รื้อกระจกเดิมออก โครง Frame อะลูมิเนียม ยึดกระจกและที่หุ้มโครงเหล็กออก, ติดตั้งขา Support Frame ด้วยวิธีการเชื่อมโครงสร้างเหล็กเดิม นอกจากนี้ยังต้องติดตั้ง Frame อะลูมิเนียม ยึดแผ่นอะคริลิกใส่ชั่วคราวแทนกระจกถาวรในระหว่างรื้อถอน กรณีที่ต้องรอตัวอักษร
ส่วนราคากลางนั้น คณะกรรมการฯ ได้สอบถามที่มาของมูลค่างาน 33,169,726.39 บาท ซึ่ง รฟท.ชี้แจงว่า แบ่งงานเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. งานโครงสร้างวิศวกรรม วงเงิน 6,228,521.51 บาท 2. งานสถาปัตยกรรม วงเงิน 24,394,841.39 บาท 3. งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ วงเงิน 918,700.89 บาท และ 4. งานเผื่อเลือก (Provisional Sum) วงเงิน 1,627,662.60 บาท ซึ่งสัญญาเขียนไว้ว่า Provisional Sum จะจ่ายเท่าที่ทำหมายความว่าไม่ได้ทำก็ไม่ต้องจ่าย
คณะกรรมการตรวจสอบฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่ รฟท.เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณลง เช่น 1. ทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุ เทคนิค ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง
2. พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่แล้ว มาปรับปรุงใช้ต่อแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพดี
3. ทบทวนค่างานออกแบบ ที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนปรับลดงาน Provisional Sum เช่น ความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น ข่าวออกแบบเพิ่มเติม>>> ไอเดียเลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับแต่งห้องนอนให้กับลูกๆ